อัลบั้ม : 5697 กล่าวสุนทรพจน์ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 24 มิถุนายน 2475
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนอัสสัมชัญ ส่งนายคณพศ ปาริยะประเสริฐ เลขประจำคัว 51626 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 กล่าวสุนทรพจน์ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 24 มิถุนายน 2475 ณ บริเวณใต้ อาคารอัสสัมชัญ 2003 โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
วันที่ 24 มิถุนายน สำหรับคนทั่วไปคงคิดว่าวันนี้เป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่ทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไป ทำกิจกรรมที่ตนเองต้องการหรือทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ววันนี้ถือได้ว่าเป็นวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของบ้านเมืองเราพร้อมทั้งยังมีกลุ่มคนผู้เสียสละยอมเสี่ยงชีวิตเข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เกิดได้ด้วยความคิดริเริ่มของคณะราษฎรโดยมีการก่อตั้ง คณะราษฎร ที่กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2470 เหตุที่มาของชื่อ คณะราษฎร ส่วนหนึ่งมาจาก “คณะ ร.ศ. 130” เพราะว่าประเทศไทยใช้คำว่า “คณะ” สำหรับเรียกองค์การเมืองหรือสมาคมการเมือง และคำว่า “ราษฎร” มาจากการที่ผู้ก่อการทุกคนเป็นราษฎรไทยซึ่งหลายคนยอมอุทิศตนเพื่อราษฎรเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย โดยในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามในเวลานั้น ปัจจัยที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเรื่องของการบริหารประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง หรือเรื่องทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ค่อนข้างลำบากเนื่องจากรัฐมีหน้าที่ให้บริการและสวัสดิการทางสังคมแต่รัฐบาลในขณะนั้นอาจจะยังไม่สามารถตอบสนองได้ดี ทางคณะราษฎรจึงมีจุดมุ่งหมายพัฒนาชาติไทยตาม หลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยชี้ให้เห็นถึงแนวนโยบายในการทำงานของคณะราษฎรซึ่งสรุปได้ว่า “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” จึงถือได้ว่าสิ่งนี้เป็นนโยบายหลักที่ต่อมายังคงมีการแก้ปัญหาทั้ง 6 ด้านมาตลอดและเป็นแบบอย่างของนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ผลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยและเป็นวันที่เปรียบเหมือนการตอกเสาเข็มบ้านในเรื่องของประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นทุกคนควรที่จะต้องมีส่วนช่วยกันสร้างบ้านหลังนี้ให้มั่นคงต่อไปด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจนกว่าบ้านหลังนี้จะเสร็จสมบูรณ์ต่อไป
---------------------------------
จำนวนภาพในอัลบั้มนี้ 6 ภาพ
ภาพโดย:
ภาพโดยนักเรียน: ไม่ได้แจ้งในระบบ
โพสต์:
วันที่โพสต์ : 25 มิ.ย. 2565 วันที่ถ่ายภาพ : 24 มิ.ย. 2565