การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR)


วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม.ความจำเป็นในการฉีดสองครั้ง

ฉีดวัคซีน MMR เมื่อวันศุกร์ ที่ 20 สิงหาคม 2553

          หลังจากที่มีการนำวัคซีนหัดมาใช้ในเด็กไทยอย่างแพร่หลาย เป็นผลให้จำนวนผู้ป่วยหัดลดลงมาก แต่ยังพบการระบาดของโรคเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะในเด็กโตและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากวัคซีนเข็มแรกไม่ได้ผล หรือระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนครั้งเดียวไม่เพียงพอ   จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนหัดครั้งที่สองในรูปวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี และควรให้วัคซีนในเด็กโตและผู้ใหญ่ซึ่งไม่เคยเป็นโรคหัดและในอดีตได้รับการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว


โรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม

            ทั้งโรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม ต่างเกิดจากการติดเชื้อไวรัส สำหรับโรคหัดจะติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้น เริ่มจากไรผมมาสู่ใบหน้า ลำตัว แขนขา ในเด็กเล็กและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางปอดซึ่งมีความรุนแรงและอัตราตายสูง 

            โรคหัดเยอรมันส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง ยกเว้นเมื่อเกิดในเด็กโตและผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต และที่สำคัญคือหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน มีโอกาสเสี่ยงต่อทารกตายในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิด

            โรคคางทูมมักมีอาการทั่วไปไม่รุนแรงได้แก่ ไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ บางอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น 

            จากรายงานของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอุบัติการณ์ของโรคทั้งสามลดลงอย่างต่อเนื่อง  หลังมีการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัดส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 9 เดือน เด็กโตที่ได้รับวัคซีนหัดเพียงครั้งเดียว และมีรายงานในผู้ป่วยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น


วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม

            วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมเป็นวัคซีนมีชีวิตชนิดผงแห้ง ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีทั้งวัคซีนหัดอย่างเดียว และวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ครั้งแรกเมื่ออายุ9-12 เดือน และครั้งที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี 

            การฉีดวัคซีนครั้งที่สองมีความสำคัญเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล หรือช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกรณีที่ระดับภูมิคุ้มกันลดลงหลังการฉีกครั้งแรก โดยทั่วไปไม่แนะนำการฉีดวัคซีนนี้ก่อนอายุ 9 เดือน เนื่องจากเด็กยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้จากมารดาเหลืออยู่

           วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง อาการข้างเคียง เช่น อาการไข้ ผื่น และภาวะเกร็ดเลือดต่ำ อาจพบบ้างหลังการฉีด 1-2 สัปดาห์ แต่ไม่บ่อยนัก หรืออาจพบอาการต่อมน้ำเหลืองโต ปวดข้อและข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ และต่อมน้ำลายอักเสบ สำหรับอาการแพ้ เช่น ลมพิษหรือผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด พบได้น้อย ส่วนปฏิกิริยาแพ้เฉียบพลันพบน้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมองพบได้น้อยมากเช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นความบังเอิญที่พบร่วมกันมากกว่าจะเป็นสาเหตุจากวัคซีน มีรายงานเยื่อหุ้มสมองอักเสบหลังฉีดวัคซีนคางทูมบางสายพันธุ์ ถึงแม้จะเคยมีรายงานว่าผู้ป่วยออทิสซึมหลังได้รับวัคซีนหัด แต่ยังไม่มีการศึกษายืนยันถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว 

            ห้ามฉีดวัคซีนให้แก่หญิงตั้งครรภ์ มีประวัติแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนชนิดรุนแรง และผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ซึ่งแม้จะแพ้ไข่แบบรุนแรงสามารถให้วัคซีนได้เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณโปรตีนไข่ต่ำ โดยแนะนำให้สังเกตอาการหลังให้วัคซีน 20-30 นาที ส่วนผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ติดเชื้อเอสไอวีสามารถให้วัคซีนได้หากร่างกายแข็งแรง ผู้ที่ได้รับเลือดหรืออินมูโนโกลบุลิน และผู้มีอาการป่วยควรเว้นระยะการให้วัคซีนออกไป

จาก หนังสือ"วัคซีน...น่ารู้"
สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

 

บุคลากรที่เกี่ยวข้อง 3
อ้างอิงอัลบั้มภาพ


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

โพสต์ : ผู้ตรวจทาน :
หน่วยงาน : จาก
แผนงาน : -
โครงการ : -

จำนวนผู้อ่าน 15454 ครั้ง

Keep