เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม 2554 โรงเรียนอัสสัมชัญ จัดพิธี วัน ฟ. ฮีแลร์รำลึก โดยมีภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ ผู้อำนวยการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยภราดาพิสูตร วาปีโส รองผู้อำนวยการ / หัวหน้าฝ่ายโปรแกรมภาษาอังกฤษ คณะผู้ร่วมบริหาร ครู นักเรียน ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์เจษฏาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ ผู้อำนวยการ ให้โอวาทกับนักเรียน ความตอนหนึ่งว่า “... โรงเรียนอัสสัมชัญก่อตั้งโดย คุณพ่อเอมิล กอลมเบต์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดสวนท่าน (อาสนวิหารอัสสัมชัญ) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 เป็นโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2444 คุณพ่อกอลมเบต์มอบให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลจากฝรั่งเศสเข้ามาบริหารโรงเรียนแทนท่าน ในครั้งนั้นมีภราดาคณะแรกจำนวน 5 ท่าน เดินทางมาเมืองไทยเพื่อรับช่วงงานด้านการศึกษาต่อจากคุณพ่อกอลมเบต์ เมื่อมีภราดาคณะเซนต์คาเบรียลแขวงประเทศไทยแล้วได้ก่อตั้งมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลการบริหารโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ โรงเรียนอัสสัมชัญจึงเป็นโรงเรียนแห่งแรกของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ และในปีการศึกษา 2552 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โรงเรียนอัสสัมชัญ มีอายุครบ 125 ปี แห่งการก่อตั้ง ในนามโรงเรียนอัสสัมชัญ รู้สำนึกในพระคุณของคณะภราดาทั้ง 5 ท่าน จึงมีนโยบายที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่คณะภราดาทั้ง 5 ท่าน ซึ่ง 1 ในคณะภราดานั้นได้แก่ ภราดา ฮีแลร์ บุคคลซึ่งมีความสำคัญกับการศึกษาของโรงเรียนอัสสัมชัญ และเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยที่ได้รับการยอมรับ พวกเราชาวอัสสัมชัญได้เรียนหนังสือเรียนภาษาไทย โดยใช้ตำราเรียนดรุณศึกษา ที่เป็นผลงานของภราดา ฮีแลร์ ท่านได้รวบรวมผลงานด้านภาษาไทย นานกว่า 17 ปี นับได้ว่าท่านเป็นนักค้นคว้า นักปราชญ์ ด้วยความพากเพียร เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ถือเป็นแบบอย่างในเรื่องการเรียบง่าย การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการปรับตัว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องความพอเพียง ในวันนี้เป็นวันรำลึกถึง เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ท่านเป็นนักแต่งกลอนสอนใจ บทกลอนของท่านยังคงเป็นบทกลอนที่นำมาสอนนักเรียนให้รู้คิด รู้วิเคราะห์ โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ นักเรียนคงจำได้เมื่อครั้งที่ให้คำมั่นสัญญาในวันไหว้ครู นั่นคือ ข้อสัญญาที่ให้ไว้กับคุณครูว่าจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน อย่าให้คำมั่นสัญญาเป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น เป้าหมายของอัสสัมชัญ คือ การสอนศิษย์ทุกคนให้เป็นคนดี คนเก่งนั้นถือเป็นพระพรจากพระเจ้า สิ่งสำคัญคือ การเป็นนักเรียนที่ดี เป็นลูกที่ดี และเป็นศิษย์ที่ดี เป็นผู้ทุ่มเท เสียสละ และเป็นแบบอย่างที่ดี การทำความดีอยู่ที่ใจของทุกคน ถ้ามีการโกงกินสถาบันก็จะล่มสลาย ดังนั้น ความเป็นอัสสัมชัญ จึงถือเป็นแบบอย่างความซื่อสัตย์ ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ต่อสถาบัน และต้องเป็นผู้สำนึกดีตลอดชีวิต โดยยึดแบบการดำเนินชีวิตและคำสอนของเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ เป็นแบบอย่าง ...”